ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งหน่วยงานเร่งศึกษา Libra เพื่อร่างกฎหมายและข้อบังคับ

เมื่อไม่นานมานี้ Facebook ได้ปล่อยข่าวใหญ่ระดับสะเทือนวงการด้านการเงินและเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดจากการเปิดตัวสกุลเงินดิจิตอล Libra ที่ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน มาเป็นตัวขับเคลื่อนในการโอนเงินข้ามประเทศให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งมีความรวดเร็วและยังมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการที่ต่ำมาก แต่หลังจากที่ได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิตอล Libra ไม่นานนักหลายองค์กรของรัฐบาลก็ได้ทำเรื่องไปถึง Facebook ว่าให้ชะลอการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอล Libra เพื่อจะประเมินผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งในด้านข้อกฎหมายและการนำไปใช้เกี่ยวกับการทุจริต เช่นนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอลนี้อย่างใกล้ชิดเพราะมีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ความเสถียรของการเงินในการคุ้มครองผู้บริโภคจนถึงการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ในการฟอกเงินเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ก่อการร้าย

ประเทศไทยถือเป็นชาติที่มีการใช้งาน Facebook มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งแน่นอนว่าสกุลเงินดิจิตอล Libra ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายของรัฐบาลไทยกำลังให้ความสนใจ ซึ่งมีธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำลังเร่งศึกษาและออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังเผยว่า Facebook ก็มีการติดต่อมาเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับปัญหานี้โดยตรง ซึ่ง Facebook พยายามผลักดันให้ Libra สามารถใช้งานได้จริงในระดับสากล และแน่นอนว่าประเทศไทยก็ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ Facebook ได้ให้ความสนใจในด้านการทำการตลาดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอลชนิดนี้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากสกุลเงินดิจิตอล Libra เป็นเรื่องที่ใหม่พอสมควร ถึงแม้จะมีการเผยแพร่เอกสาร White Paper ออกมาให้ศึกษาแต่ก็พบว่าเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคจำนวนมาก ต้องใช้เวลาและบุคคลที่มีความชำนาญเฉพาะด้านในการทำความเข้าใจถึงจะร่างกฎหมายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอลชนิดนี้ออกมาได้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ตั้งหน่วยงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งมีการร่วมมือกันหลายภาคส่วน เพราะทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามจะผลักดันให้นวัตกรรมทางการเงินของไทยมีความก้าวหน้า เพื่อส่งเสริม Startup และธุรกิจการค้าทางออนไลน์ให้มีความก้าวหน้าในระดับสากล